ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตลาดน้ำบางน้อย อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และบริการวิชาการ เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชน ตลาดน้ำบางน้อย มรภ.สวนสุนันทา
ที่ตั้ง : ตลาดน้ำบางน้อย ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
รายละเอียดศูนย์การเรียนรู้
หากพูดถึงจังหวัดสมุทรสงครามแล้วนั้น ทุกคนคงจะนึกถึงตลาดน้ำอัมพวาอันเลื่องชื่อ แต่ยังมีตลาดน้ำอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงไว้ซึ่งความสงบ และเรียบง่าย นั่นก็คือ “ตลาดน้ำบางน้อย” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางน้อย (คลองที่ตัดจากแม่น้ำแม่กลอง) ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ (ไหพันใบ) ซึ่งเป็นมรดกจากใต้บาดาล ตั้งอยู่ และด้วยความเป็นมิตรของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จึงทำให้ตลาดน้ำแห่งนี้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เอกลักษณ์ที่ว่านี้ก็คือ “ความสงบ เรียบง่าย และเป็นกันเอง” ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มอาชีพศูนย์การเรียนรู้ฯ ตลาดน้ำบางน้อย” ขึ้น เพื่อสร้างรายได้จากการทำไอศกรีมผลไม้ตามฤดูกาล และในฤดูกาลที่ผ่านมานี้ มี “ไอศกรีมมะม่วงหาวมะนาวโห่” ออกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะถูกแปรรูปเป็นไอศกรีมแล้ว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งรสชาติหวานอมเปรี้ยวของมะม่วงหาวมะนาวโห่เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ชวนให้นักชิมทั้งหมดได้ลิ้มลองรสชาติที่ไม่เหมือนใครนี้
และศูนย์การเรียนรู้ฯแห่งนี้ เป็นผลจากการขยายผลองค์ความรู้ด้านการรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้มาจากศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม สู่ชุมชน (บ้านสารภี) ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยคุณลาวัลย์ เชิดชู ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้คำแนะนำในการรักษาวิถีชุมขน วิถีความเป็นตลาดน้ำบางน้อยเอาไว้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยเข้ามาให้ความรู้ จัดระบบระเบียบให้กับเรา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากขึ้น สิ่งสำคัญอีกอย่างที่มุ่งเน้นคือการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยไม่ทิ้งความเป็นตลาดน้ำบางน้อยไป” สืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่ทำการวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนและการจัดการข้อมูลพื้นฐานเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำบางน้อยอย่างยั่งยืน พบว่า ตลาดน้ำบางน้อยมีจุดเด่นคือ การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประเภทตลาด ที่ยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่าย แต่ผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี เพราะทุกคนมีความเชื่อที่ว่าไม่อยากให้คนนอกพื้นที่อย่างพวกนายทุนเข้ามาปรับเปลี่ยนสิ่งเดิมๆที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ของตลาดน้ำบางน้อยไป นั่นจึงสอดคล้องกับคำสร้อยต่อท้ายชื่อตลาดว่า “ตลาดน้ำบางน้อย เสน่ห์ที่ไม่ปรุงแต่ง” และนี่เองจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจึงมีความพยายามผลักดันให้ตลาดน้ำบางน้อยเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่สนับสนุนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยที่เน้นการขายผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ พร้อมกับอนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวบ้านควบคู่กัน