IRD SSRU

LEARNING CENTER

SUAN SUNANDHA RAJABHAT UNIVERSITY

ศูนย์การเรียนรู้

ศูนย์การเรียนรู้ฯ วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการ และถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ที่ตั้ง : อาคารเอนกประสงค์วัดประชาระบือธรรม ถนนพระรามที่ 5 แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดศูนย์การเรียนรู้

เป็นศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเมือง ที่มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 ซึ่งกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ฯ นั้นมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสริมสร้างอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนเมือง ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพของชุมชน ซึ่งเกิดจากผลการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชนจากการวิจัยภายใต้การพัฒนากรุงเทพมหานครและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานคร ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4 เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม 6 มิติ ได้แก่ การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ยังแปรผลสู่การแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสิรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยใช้กระบวนการการรวบรวมข้อมูลภาคสนามในลักษณะของการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ประเมินผลโดยใช้บันไดคุณภาพชีวิตและกระบวนการมีส่วนร่วม AIC (Appreciation Influence Control) พบว่า ชุมชนวัดประชาระบือธรรมมีปัญหาในความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงระบบการศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การพัฒนาด้านกายภาพของชุมชน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ การเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในระดับปัญหาที่ไม่หนักมากนัก โดยสามารถแก้ไขปัญหากันได้ หรือการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ซึ่งในภาพรวมปัญหาเหล่านี้ยังคงมีรูปของปัญหาไว้อยู่ แต่ยังไม่เด่นชัดที่จะแก้ไขทันที ส่วนด้านที่ประชาชนให้ความสำคัญและต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ซึ่งประชาชนต้องการมีรายได้เสริมสำหรับประชาชนที่ว่างงานหรือผู้สูงอายุในชุมชน และต้องการให้สุขภาพของชุมชนดีขึ้น จนเกิดการจัดโครงการส่งเสริมอาชีพการนวดแผนไทยประยุกต์ของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4 เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน เป็นของประชาชน ดำเนินการได้โดยประชาชน กระทั่งประชาชนสามารถต่อยอดและผลักดันด้วยตนเองจัดตั้งเป็นกลุ่ม “ประชาระบือธรรมนวดกดจุดฝ่าเท้า” จนสำเร็จ ส่วนภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ แหล่งการทำกิจกรรมนอกพื้นที่ (ออกบูท) และงบประมาณตามลำดับ

เมื่อมีการจัดโครงการส่งเสริมอาชีพการนวดแผนไทยประยุกต์ของชุมชนวัดประชาระบือธรรม 1-4 เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน เป็นของประชาชน ดำเนินการได้โดยประชาชน จนสามารถสร้างกลุ่มอาชีพได้แล้วนั้น จึงมีการตั้งโจทย์และวางแผนการดำเนินงานผ่านบูรณาการองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย เรื่อง แนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ วิเคราะห์พฤติกรรมและระดับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทั้งในครัวเรือนและระดับชุมชน และศึกษาแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนชุมชนเมืองเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนในชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมากที่สุดโดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายใด ๆ ก็ต้องคำนึงถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีพและไม่สุรุ่ยสุร่าย การกระทำกิจกรรมร่วมในชุมชนหรือสังคมไม่ควรเอาเปรียบผู้อื่นและเพื่อนร่วมงาน และการรู้จักประหยัด มัธยัสถ์เป็นหลักพื้นฐานสำคัญของความพอประมาณ ส่วนการปฏิบัติในกิจกรรมในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวกับการประหยัด เช่นการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเสมอเมื่อออกจากบ้านหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ด้านการดำรงชีวิต ประชาชนจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ การประกอบอาชีพของตนและสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณไม่ลงทุนเกินตัว การยึดมั่น และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับเห็นด้วยกับด้านจิตใจกับคำว่า “พอ” ที่เป็นการพัฒนาตนเอง ไม่เบียดเบียนและพึงพอใจในชีวิตที่พอเพียง ซึ่งจะประยุกต์ใช้กับตนและสมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักธรรมทางศาสนาอยู่เสมอ ส่วนในระดับชุมชนยังไม่ปรากฏชัดเจน จะมีการดำรงชีวิตด้วยการปรับตัวเองและครอบครัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวทางในการดำรงชีวิตที่มีความสุขในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่ผู้นำครอบครัวและสมาชิกยึดมั่นในการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักพอประมาณและไม่ลงทุนเกินตัว แม้จะลำบากก็ต้องยึดหลักความพอเพียง ยึดมั่นและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนาและใช้ชีวิตอย่างมีสติ สมาธิ ปัญญา เดินทางสายกลางเท่านี้ก็เพียงพอ

จึงทำให้แนวทางในการดำเนินงานของกลุ่มประชาระบือธรรมนวดกดจุดฝ่าเท้านั้นชัดเจนขึ้นในอีกระดับหนึ่ง โดยการลงทะเบียนเป็นสมาชิกของกลุ่มอาชีพ มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงานของกลุ่มอาชะ และบริหารจัดการงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์การนวดของกลุ่ม ซึ่งอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทางสายกลาง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข (3 ห่วง : พอประมาณ, มีเหตุผล, มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 2เงื่อนไข : ความรู้, คุณธรรม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมเงิน กล่าวคือ การบริหารจัดการกลุ่มอาชีพนั้นประกอบไปด้วย สมาชิก  (Members) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Materials) และการจัดการ (Management) ซึ่งแต่ละปัจจัยนั้นมีความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้งบประมาณเป็นปัจจัยหลักที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อการนำไปสู่การบริหารงานจัดการกิจการของกลุ่มอาชีพ โดยการอาศัยหลักของการออม สามารถทำได้ด้วยการแบ่งเงินรายได้ส่วนบุคคลออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินรายได้ (80%) และเงินออม (20%) จากนั้นแบ่งเงินออมออกเป็น 4 ส่วนเข้าส่วนกลาง ได้แก่ ส่วนแรกเป็นเงินออมเข้ากองทุนสวัสดิการของสมาชิก (30%) ส่วนที่สองเป็นเงินค่าเช่าสถานที่/อาคาร (30%)  ส่วนที่สามเป็นเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ (30%)  เช่น ค่าซักผ้า ค่าดอกไม้บูชาพ่อปู่ฤๅษีชีวก โกมารภัจจ์ และส่วนที่สี่เป็นเงินทำบุญ (10%) เพื่อช่วยเหลือสังคม ทั้งนี้เงินส่วนที่ทำบุญนั้นจะขึ้นอยู่กับเงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน จึงทำให้การดำเนินกิจการของกลุ่มอาชีพดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

จากบูรณาการผลการวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการศึกษาแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่เขตดุสิต กับการบริการวิชาการแก่สังคม ส่งผลให่ในปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการ และถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้การสร้างอาชีพเพื่อชุมชนเมือง และหนึ่งในนั้นคือกลุ่มอาชีพประชาระบือธรรมนวดกดจุดฝ่าเท้า และในปีถัดมา (พ.ศ.2558) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการ และถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้การรวมกลุ่มผลิตยาหม่องพญาว่าน และออกแบบบรรจุผลิตภัณฑ์พร้อมชื่อแบรนด์ “ดุสิตระบือธรรม” ซึ่งสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาหม่องพญาว่านนี้สำหรับการนวดของกลุ่มอาชีพ และจำหน่ายเป็นของที่ระลึกเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่มอาชีพนี้อีกด้วย

จนเกิดการพัฒนาโมเดลขึ้นจากการใช้คำว่า “บวร” ในการพัฒนาในอดีตจนกลายมาเป็นการศึกษาที่ต้องเพิ่มองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเข้าไปเป็น “บวรม” ซึ่งอยู่ในระหว่างการเพิ่มเติมแนวคิดและการพิสูจน์การใช้ในการพัฒนาชุมชนเมืองและชุมชนชนบทต่อไป

ซึ่งเกิดจากผลการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์สหเวชศาสตร์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ และกลุ่มอาชีพนั้นคือ กลุ่มอาชีพนวดกดจุดฝ่าเท้า วัดประชาระบือธรรม” ซึ่งปัจจุบันนั้นเปิดให้บริการทุกวัน นอกจากนี้ภายในศูนย์การเรียนรู้ ยังมีการรวบรวมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ ด้านการจัดทำบัญชี, การบริหารจัดการเงินทุน สวัสดิการ, การบริหารจัดการวัสดุ อุปกรณ์ นอกจากนี้กลุ่มอาชีพมีการทำลูกประคบสมุนไพร และยาหม่องพญาว่านในนาม “ดุสิตระบือธรรม” เพื่อใช้สำหรับการนวดกดจุดของกลุ่มเอง และจัดจำหน่ายเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย

ยังไม่มีข้อมูล เบอร์ติดต่อ

ยังไม่มีข้อมูล email

ภาพบรรยากาศศูนย์การเรียนรู้